เมื่อเวลา 11.00 น. นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี / ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ผอ.ศรชล.) เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมหน่วยยามฝั่งอาเซียน ปี พ.ศ. 2568 (ASEAN Coast Guard Forum 2025: ACF 2025) โดยมีนายภูมิธรรม เวชยชัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (นปท.) ร่วมคณะในครั้งนี้ด้วย พร้อมด้วย พลเรือเอก จิรพล ว่องวิทย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ / รอง ผอ.ศรชล. และ พลเรือเอก ไพโรจน์ เพื่องจันทร์ เสนาธิการทหารเรือ / เลขาธิการ ศรชล. ให้การต้อนรับ ณ โรงแรมฮิลตัน พัทยา อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี
การประชุมครั้งนี้จัดขึ้นโดยศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.), ศูนย์บังคับใช้กฎหมายทางทะเลแห่งประเทศไทย (Thai-MECC) และองค์การสหประชาชาติว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรม (UNODC) เป็นเจ้าภาพร่วมกัน โดยมีหน่วยงานด้านยามฝั่งและบังคับใช้กฎหมายทางทะเลจากประเทศสมาชิกอาเซียน และผู้สังเกตการณ์เข้าร่วมประชุม รวม 9 ประเทศ ได้แก่
• บรูไน / Royal Brunei Police Force (RBPF)
• อินโดนีเซีย / Indonesia Maritime Security Agency (Bakamla RI)
• สปป.ลาว / Embassy of Lao People’s Democratic Republic
• มาเลเซีย / Malaysian Maritime Enforcement Agency (MMEA)
• เมียนมา / Myanmar Coast Guard
• ฟิลิปปินส์ / Philippine Coast Guard (PCG)
• สิงคโปร์ / Singapore Police Coast Guard
• เวียดนาม / Vietnam Coast Guard (VCG)
• ติมอร์-เลสเต / Naval Component of the Timor-Leste Defence Force (F-FDTL)
โดยมี UNODC เป็นผู้สนับสนุนหลักของการจัดประชุมครั้งนี้ หัวข้อหลักของการประชุม ACF 2025 คือ
“Fostering Maritime Safety, Security, and Prosperity in ASEAN” (การส่งเสริมความปลอดภัย ความมั่นคง และความเจริญรุ่งเรืองทางทะเลในอาเซียน) อย่างไรก็ตาม การประชุมในครั้งนี้มีประเทศที่ไม่ได้เข้าร่วม 1 ประเทศ คือ กัมพูชา
หลังจากพิธีเปิด นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี / ผอ.ศรชล. ได้นำคณะผู้แทนประเทศสมาชิกเข้ารับชมการฝึกค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัยในทะเล (Search and Rescue: SAR) ที่จัดขึ้นกลางอ่าวพัทยา โดยสมมุติเหตุการณ์เครื่องบินโดยสาร ซึ่งเดินทางจากท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภาไปยังท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต หายไปจากจอเรดาร์ ก่อนจะพบว่าเครื่องบินตกลงกลางทะเล โดยมีหน่วยร่วมปฏิบัติการ โดย ศรชล, กองทัพเรือ, กรมเจ้าท่า,
ตำรวจน้ำ(CIB), กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง, กรมการแพทย์ฉุกเฉิน, โรงพยาบาล, หน่วยกู้ภัยในพื้นที่ ได้ระดมสรรพกำลังเข้าช่วยเหลือผู้ประสบภัยทันที
พลเรือเอก จิรพล ว่องวิทย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ / รอง ผอ.ศรชล. กล่าวภายหลังการประชุมว่า การประชุมครั้งนี้มุ่งเน้นการจัดทำ เอกสารคู่มือมาตรฐานการปฏิบัติงานร่วม, การฝึกซ้อมร่วม และจัดตั้ง ช่องทางการสื่อสารเฉพาะระหว่างศูนย์ประสานงานการกู้ภัยทางทะเล เพื่อส่งเสริมการบูรณาการข้อมูลและการสื่อสารข้ามพรมแดน พัฒนาขีดความสามารถในการกู้ภัยทางทะเล และสร้างมาตรฐานสากลร่วมด้านความปลอดภัยและการจัดการภัยพิบัติทางทะเล รวมถึงสนับสนุนความร่วมมือด้านยุทธศาสตร์ระดับภูมิภาค และเสริมสร้างความเชื่อมั่นระหว่างประเทศ เพื่อการจัดการภัยพิบัติอย่างยั่งยืนในอนาคต
อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีมีสีหน้ายิ้มแย้มในระหว่างพิธีเปิด แต่ไม่ได้ให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชนแต่อย่างใด